ความเป็นมาของโครงการ
เมื่อปี พ.ศ.2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะสงวนบริเวณป่าต้นยางที่อำเภอ ท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ไว้เป็นสวนสาธารณะด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ไม่สามารถจัดถวายตามพระราชประสงค์เพราะมีราษฎรเข้ามาทำไร่ทำสวนในบริเวณ นั้นมาก จะต้องจ่ายเงิน ทดแทนในการจัดหาที่ใหม่ในอัตราที่ไม่สามารถจัดได้ เมื่อไม่สามารถดำเนินการปกปักรักษาต้นยางนาที่อำเภอท่ายางได้ จึงทรงทดลองปลูกต้นยางเอง โดยทรงเพาะเมล็ดที่เก็บจากต้นยางนาในเขตอำเภอ ท่ายาง ในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน และทรงปลูกต้นยางนาเหล่านั้นในแปลงทดลองป่าสาธิตใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา ในปี 2504 ซึ่งนับเป็นปฐมฤกษ์ของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช แม้ว่าต้นยางนาที่อำเภอท่ายางสูญสิ้น แต่พันธุกรรมของยางนาเหล่านั้น ยังอนุรักษ์ไว้ในสวนจิตรลดา ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพรรณไม้จากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณสวนจิตรลดา เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้ของนิสิตแทนที่จะต้องเดินทาง ไปทั่วประเทศ
ต่อมาในปี พ.ศ.2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พืชธุกรรมพืชโดยมอบหมายให้ฝ่ายวิชาการ งานโครงการส่วนพระองค์ฯ เป็นผู้ดำเนินการ สำหรับ งบประมาณดำเนินงานนั้น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ สนับสนุนให้กับโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอ้นเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยจัดสร้างธนาคารพืชพรรณในปี พ.ศ.2536 สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อพันธุ์พืช และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานในทุกกิจกรรมของโครงการฯ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในระยะที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนองพระราชดำริเป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่และกิจกรรมของโครงการได้ขยายและกระจายออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งมีแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลายมากขึ้นโดยลำดับ และได้บรรลุผลก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยประจักษ์ชัดแล้ว
เป้าหมายรวม
- เพื่อพัฒนาบุคลากร
- อนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืช
- ให้เกิดประโยชน์กับมหาชนชาวไทย
วัตถุประสงค์
- ให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืช
- ให้ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ จนเกิดผลประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย
- ให้มีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช สื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ